FAQ

คำถามที่พบบ่อย

สามารถตรวจสอบหรือสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ที่ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) www.fda.moph.go.th คลิกเมนู “ตรวจสอบผลิตภัณฑ์” เลือกประเภทผลิตภัณฑ์ที่ต้องการตรวจสอบ

ผลิตภัณฑ์สุขภาพแต่ละประเภท หากผ่านการขออนุญาตกับ อย. แล้ว บนฉลากจะแสดงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการได้รับอนุญาตจาก อย. แล้วต่างกัน ได้แก่
– ผลิตภัณฑ์อาหาร จะแสดงเลขสารบบอาหาร (ตัวเลข 13 หลัก) ในกรอบเครื่องหมาย อย. สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายไม่กำหนดให้ต้องขอเลข อย. (เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย.) แต่สถานที่ผลิตต้องผ่านหลักเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยสามารถยื่นขอเลข อย. ได้หากต้องการแสดงเครื่องหมาย อย. บนฉลาก
– ผลิตภัณฑ์ยา จะแสดง “เลขทะเบียนตำรับยา” โดยมีข้อความ “ทะเบียนยาเลขที่….” หรือ “Reg.No. ….” ซึ่งจะแสดงเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษตามด้วยตัวเลขลำดับที่ขึ้นทะเบียนทับปี พ.ศ.
– ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จะแสดงเลขที่ใบรับแจ้ง โดยกำหนดให้เป็นเลข 10 หลัก ตัวอย่างเช่น 10-1-52xxxxx และห้ามนำเลขที่ใบรับแจ้งมาใส่ในกรอบเครื่องหมาย อย.
– ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์
ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์แบ่งระดับการควบคุมตามระดับความเสี่ยงเป็น 3 ประเภท
1. เครื่องมือแพทย์ที่ต้องมีใบอนุญาต ได้แก่ ถุงยางอนามัย ถุงมือยางสำหรับศัลยกรรม ชุดตรวจเชื้อ HIV คอนแทคเลนส์ ต้องมีเครื่องหมาย อย. บนฉลาก ผ. หมายถึง ผลิต น. หมายถึง นำเข้า
2. เเครื่องมือแพทย์ที่ต้องแจ้งรายการละเอียด ได้แก่ เครื่องที่ใช้เพื่อกายภาพบำบัด เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในร่างกาย เต้านมเทียมซิลิโคน ไม่ต้องมีเครื่องหมาย อย. บนฉลาก แต่ต้องมี “เลขที่ใบรับแจ้ง”
3. เครื่องมือแพทย์ทั่วไป ได้แก่ เครื่องมือแพทย์ที่นอกเหนือจากนี้ เช่น เตียงผ่าตัด เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เครื่องตรวจวัดความดันโลหิต เป็นต้น ไม่ต้องแสดงเครื่องหมาย อย. หรือเลขที่ใบรับแจ้งบนฉลาก
ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน อย. กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้บางกลุ่มต้องมีเครื่องหมาย อย. แสดงบนฉลาก โดยในเครื่องหมาย อย. ประกอบด้วยอักษรย่อ วอส. (วัตถุอันตรายที่ใช้ทางสาธารณสุข) ตามด้วยเลขทะเบียนทับปี พ.ศ. ตัวอย่างเช่น แต่ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนบางกลุ่มได้รับการยกเว้นไม่ต้องแสดงเครื่องหมาย อย. ได้แก่ ก้อนดับกลิ่น/ลูกเหม็น ผลิตภัณฑ์ลบหรือแก้คำผิดที่มีน้ำเป็นตัวทำละลาย เทปลบคำผิด และน้ำมันตะไคร้หอม (citronella oil) แต่ต้องมีเลขที่ใบรับแจ้งทับปี พ.ศ. ตัวอย่างเช่น เลขที่รับแจ้ง xxx/xxxx

แสดงฉลากภาษาไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ชื่ออาหาร
2. เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย.
3. ชื่อที่อยู่ผู้ผลิต หรือชื่อที่อยู่ผู้นำเข้า
4. ปริมาณสุทธิ
5. ส่วนประกอบของอาหาร
6. กรณีที่มีการใช้ “วัตถุกันเสีย” “เจือสีธรรมชาติ” “เจือสีสังเคราะห์” “ใช้…….เป็นวัตถุปรุงแต่งรสอาหาร” “ใช้…….เป็นวัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล” “แต่งกลิ่นธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นเลียนธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นสังเคราะห์” “แต่งรสธรรมชาติ” หรือ “แต่งรสเลียนธรรมชาติ” ให้แสดงข้อความการใช้สารดังกล่าวบนฉลาก
7. แสดงวันเดือนและปีที่ผลิต เดือนและปีที่ผลิต วันเดือนและปีที่หมดอายุการบริโภค
ด้วยข้อความว่า “ผลิต” “หมดอายุ” หรือ “ควรบริโภคก่อน” กำกับไว้แล้วแต่กรณี ได้แก่
– แสดงวันเดือนและปีที่หมดอายุการบริโภค (สำหรับอาหารเก็บไว้ไม่เกิน 90 วัน)
– แสดงเดือนและปีที่ผลิต หรือ วันเดือนและปีที่หมดอายุการบริโภค (สำหรับอาหารที่เก็บไว้ได้เกิน 90 วัน)
– แสดงวันเดือนและปีที่ผลิต และวันเดือนและปีที่หมดอายุการบริโภค (สำหรับอาหารที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศกำหนด)
8. คำแนะนำในการเก็บรักษา (ถ้ามี)

ผลิตภัณฑ์ยาจะไม่มีเครื่องหมาย อย. บนฉลาก แต่ผลิตภัณฑ์ยาที่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. แล้ว ฉลากจะแสดงรายละเอียด ดังนี้
1. ชื่อยา
2. เลขทะเบียนตำรับยา เช่น ทะเบียนยาเลขที่ 1A 9999/46
3. ปริมาณของยาที่บรรจุ
4. ชื่อและปริมาณหรือความแรงของสารออกฤทธิ์อันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของยาซึ่งจะต้องตรงตามที่ขึ้นทะเบียนตำรับยา
5. เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตหรือวิเคราะห์ยา
6. ชื่อผู้ผลิตยาและจังหวัดที่ตั้งสถานที่ผลิตยา
7. วัน เดือน ปี ที่ผลิตยา
8. แสดงข้อความตามประเภทของยา ได้แก่ “ยาอันตราย” “ยาควบคุมพิเศษ” “ยาใช้ภายนอก” “ยาใช้เฉพาะที่” “ยาสามัญประจำบ้าน” หรือ“ยาสำหรับสัตว์” แล้วแต่กรณี
9. แสดงวัน เดือน ปี ที่ยาสิ้นอายุ ด้วยข้อความว่า “ยาสิ้นอายุ”

วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข หมายถึง วัตถุอันตรายตามประกาศว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือน โดยอาจแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์ป้องกันกําจัดแมลงและสัตว์ฟันแทะในบ้านเรือน
2.ผลิตภัณฑ์ทําความสะอาดพื้นผิวและวัสดุต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ทําความสะอาดพื้น ผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำทําความสะอาดสุขภัณฑ์ ล้างจานล้างรถ เช็ดกระจก เป็นต้น
3. ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค เช่น สเปรย์ฆ่าเชื้อโรค ผลิตภัณฑ์ทําความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคตามพื้นผิววัสดุต่างๆ
4. ผลิตภัณฑ์อุปโภคอื่น เช่น ผลิตภัณฑ์แก้ไขการอุดตันของท่อหรือทางระบายสิ่งปฏิกูล ผลิตภัณฑ์กาว Alkyl cyanoacrylate

ติดต่อสอบถามได้ที่ โทรศัพท์: 0 2590 7307, 7253, 7288, 7261
หรือ Email: adr@fda.moph.go.th

สมัครรับข้อมูลข่าวสาร
RSS
สถิติผู้เข้าชม 206
TH EN